เสน่ห์และความขลังของอาคารเก่าแก่ของ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” วันนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของคนที่มาเที่ยวเมืองกาญจน์จะต้องไม่พลาด ใครผ่านมาต้องแวะถ่ายรูป มีพื้นที่กว้างขวางและมุมเก๋ๆ มากมาย ได้บรรยากาศต่างกันไปตามช่วงเวลาของวัน
โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี เป็นแหล่งผลิตกระดาษธนบัตรไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต ในตัวเมืองกาญจนบุรี บนที่ดินราชพัสดุ มีเนื้อที่ 155-2-51 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองโบราณที่สร้างขึ้นตอนต้นรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ความป๊อปปูล่าของโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีในหลายปีหลังมานี้ เกิดจากแรงหวงแหนประวัติศาสตร์เก่าแก่ของคนเมืองกาญจน์ที่เข้มแข็งร่วมใจกันรักษาภูมิเมืองกาญจน์ เรื่องราวของจังหวัด ตั้งแต่อดีต ความเป็นมา จนถึงปัจจุบัน สถานที่สำคัญๆ จึงเฉิดฉายขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ของกาญจนบุรี
การผลิตกระดาษในแบบอุตสาหกรรมของไทยเริ่มขึ้นในปี 2466 โรงงานกระดาษแห่งแรกคือ โรงงานกระดาษสามเสน ผลิตกระดาษเพื่อใช้พิมพ์และเขียน เมื่อความต้องการใช้กระดาษเพิ่มขึ้น และเกิดภาวะขาดแคลนกระดาษพิมพ์ธนบัตรซึ่งอยู่ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงก่อตั้งโรงงานขึ้นเป็นแห่งที่สองที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเป็นแหล่งต้นไผ่ที่เป็นวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำสำหรับขนส่งสะดวก โดยเป็นโรงงานแห่งแรกที่ผลิตกระดาษสำหรับพิมพ์ธนบัตรจากเยื่อไม้ไผ่ มีขนาดใหญ่กว่าโรงงานกระดาษสามเสน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2478 ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 4 ปี
โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี เป็นกลุ่มอาคารทรงยุโรปสมัยกลาง ออกแบบโดยบริษัทจากประเทศเยอรมัน เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นยุคเริ่มแรกในประเทศไทย เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า “โรงงานทำกระดาษทหารกาญจนบุรี” เพราะสังกัดกรมแผนที่ทหารบก กระทรวงกลาโหม ที่ซุ้มประตูทางเข้าจึงออกแบบด้วยสัญลักษณ์รูปจักรมีสมอสอดขัดในวงจักร ซ้าย-ขวามีรูปปีกนกกางอยู่ภายใต้รูปพระมหามงกุฎ “ตราประจำรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม” ต่อมาในปี 2485 ได้โอนย้ายไปสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี”
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นยืมโรงงานกระดาษ 2 หลัง เป็นที่พักอาศัย และโรงงานกระดาษแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาชีวิตชาวเมืองจากการทิ้งระเบิด โดยทหารญี่ปุ่นจะส่งสัญญาณให้ทางโรงงานเปิดหวูดเสียงดังเตือนให้ชาวบ้านหาที่หลบภัยเมื่อมีเครื่องบินทิ้งระเบิดเข้ามา จึงนับว่าที่นี่เป็นสัญลักษณ์แห่งสงครามโลกที่คนกาญจนบุรีไม่เคยลืมเลือน
ภายในบริเวณโรงงานกระดาษ แบ่งเป็นอาคารต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน อาคารโรงงาน อาคารกองทำเยื่อ และโรงคลอรีน เป็นต้น ทุกวันนี้ยังทิ้งร่องรอยให้คนระลึกและจินตนาการตามถึงครั้งยังดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารต่างๆ เครื่องจักรขนาดใหญ่ ป้ายหน่วยงาน โรงหมักเยื่อ ที่ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมมานานกว่า 80 ปี
โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรีทำหน้าที่ผลิตเยื่อและกระดาษให้กับคนไทยได้ใช้มาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จึงเลิกกิจการไปในปี 2525 ต่อมาปี 2530 กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ บริษัท อุตสาหกรรมกระดาษศิริศักดิ์ จำกัด ผู้ชนะประมูลเช่าใช้พื้นที่โรงงานเป็นเวลา 30 ปี ระหว่าง ปี 2530 - 2560 ปัจจุบันหมดสัญญา กรมธนารักษ์จึงอนุญาตให้ อบจ. กาญจนบุรีเป็นผู้ดูแล และจากประชาคมคนเมืองกาญจน์ที่เข้าร่วม 70,000 คน จาก 13 อำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี มีมติให้ปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดกาญจนบุรี และให้ประชาชนใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน เช่น ภายนอกโรงงานเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนภายในจะใช้เป็นแหล่งรวมประชาชน เช่น หอประชุม ห้องนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งวันนี้อยู่ระหว่างการเตรียมโครงการ หากใครไปเยี่ยมเยือนในช่วงนี้จึงยังคงได้เห็น ได้สัมผัสเสน่ห์และบรรยากาศเก่าแก่แบบดั้งเดิมอยู่
ที่อยู่ : เลขที่ 2 ถนนแสงชูโต ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
พิกัด : https://goo.gl/maps/Y22xZUWryEaJQFwa7
เปิดให้เข้าชมทุกวัน 06.00-18.00 น. เข้าชมฟรี (ห้ามเข้าภายในอาคาร)
โทร : 034-512-577-8 ต่อ 3107
เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/kanchanaburipaper/